วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ซึ่งแต่ละปัจจัยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ คือ
1. ปัจจัยทางพันธุกรรมพันธุกรรม (Heredity) คือ ปัจจัยภายในที่กำหนดขอบเขตลักษณะและขีดความสามารถของบุคคล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยผ่านทางกระบวนการถ่ายทอดทางยีน (Genetics) ที่อยู่ในเชื้อสายของบรรพบุรุษมายังลูกหลาน ทำให้บุคคลในครอบครัวเดียวกันมีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงกัน และมีลักษณะบางประการที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยปกติบุคคลจะมีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ โดย 22 คู่แรกจะถ่ายทอดลักษณะทางร่างกาย ส่วนคู่ที่ 23 จะเป็นโครโมโซมที่ทำหน้าที่กำหนดเพศของบุคคล
อิทธิพลของพันธุกรรมที่มีผลต่อพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
1. ลักษณะทางกายภาพ (Physical Appearance) เด็กจะได้รับการถ่ายทอดโครงร่างและลักษณะทางกายภาพต่างๆจากพ่อและแม่ ได้แก่ รูปร่าง (ขนาด ความสูง น้ำหนัก สัดส่วนของร่างกาย) รูปลักษณะเหล่านี้พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดมาตั้งแต่กำเนิดและทำให้เด็กแต่ละคนมีลักษณะภายนอกและพัฒนาการส่วนบุคคลแตกต่างกัน
2. ระดับวุฒิภาวะ (Maturity) พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดสภาวะและอัตราการเจริญเติบโตของเด็กในระยะเวลาที่เหมาะสมที่เด็กแต่ละคนจะมีขีดความสามารถที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาได้เอง
3. ความสามารถทางสมอง (Intellectual Ability) การเจริญเติบโตของสมองอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาในระยะ 2 ขวบปีแรก สมองมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและโครงสร้างภายในอย่างรวดเร็ว
4. ลักษณะความผิดปกติ (Abnormality) โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีผลทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายและลักษณะที่เป็นปัญหาขึ้นได้ เช่น โรคปัญญาอ่อน (Down’s Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้เด็กมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ พัฒนาการและการเรียนรู้ในด้านต่างๆช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคตาบอดสี โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือดหยุดยาก โรคด่างขาว ซึ่งมีผลทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของเด็กหยุดชะงักและไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่
5. พื้นฐานทางอารมณ์ (Temperament) นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่ง (Thoman and Chess , 1977) เชื่อว่าการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และส่งผลให้การปรับตัวหรือการตอบสนองสิ่งต่างๆ ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ตั้งแต่แรกเกิด จนต่อเนื่องถึงพัฒนาการด้านบุคลิกภาพในวัยต่อๆ มา เช่น ลักษณะของการแสดงอารมณ์สงบมั่นคงหรืออารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นคนกระตือรือร้นหรือเงียบเฉยไม่สนใจ เป็นต้น
6. ชนิดของกลุ่มเลือด (Blood type) เด็กจะได้รับชนิดของกลุ่มเลือดจากพ่อและ แม่ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม คือ A ,B , AB และ O
7. เพศ (Sex) การรวมตัวของโครโมโซมคู่ที่ 23 จากพ่อและแม่จะเป็นตัวตั้งแต่ระยะปฏิสนธิ กล่าวคือ เซลล์สืบพันธุ์เพศชายจะนำพาโครโมโซม X ,Y ส่วนเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงจะนำพาเฉพาะโครโมโซม X เท่านั้น เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ซึ่งเด็กจะได้รับโครโมโซมจากฝ่ายพ่อและแม่ฝ่ายละ1 ตัว เด็กที่ได้รับโครโมโซม XY ก็จะเป็นเพศชาย ส่วนเด็กที่ได้รับโครโมโซม XX ก็จะเป็นเพศหญิง

2. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวผันแปรพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ได้แก่ บ้าน โรงเรียน ของเล่น อาหาร บรรยากาศ เป็นต้น และสภาพแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) ได้แก่ ครอบครัว ญาติ พี่น้อง ครู วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นต้น สภาพแวดล้อมประเภทเดียวกัน อาจมีผลต่อเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และเด็กคนหนึ่งอาจตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างจากคนอื่นได้ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กในการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ แตกต่างกัน

อิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
1. สถานภาพของครอบครัว จุดเริ่มต้นของชีวิตเด็กทุกคนมาจากครอบครัว “ครอบครัว” จึงเป็นสภาพแวดล้อมอันดับแรกที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ลักษณะครอบครัว โครงสร้าง ขนาดจำนวนสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว ฐานะเศรษฐกิจและสังคม จึงมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก เด็กที่เติบมาในครอบครัวขยายที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายคน มักได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างอบอุ่นใกล้ชิด แต่ก็อาจเกิด ความสับสนในบทบาทของสมาชิกแต่ละคนได้ ครอบครัวเดี่ยวแม้จะมีขนาดเล็กก็มีความเป็น ตัวของตัวเองใน การอบรมดูแลเด็กไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบทบาทของพ่อและแม่ ในการให้เวลาที่มีคุณภาพและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ทำให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ในขณะที่ครอบครัวที่มีปัญหาขัดแย้งหรือแตกแยก เด็กจะรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจ ขาดความอบอุ่นและไม่แน่ใจในบทบาทของตนเอง ก็อาจทำให้พัฒนาการหยุดชะงักได้ ระดับฐานะเศรษฐกิจและสังคมของพ่อแม่ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก มีผลต่อความสามารถในการตอบสนองความต้องการของเด็กได้ถูกต้องและเหมาะสม ครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีโอกาสจำกัดที่จะตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของเด็กให้ได้เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพ่อและแม่มีการศึกษาน้อยและขาดความเข้าใจรวมถึงขาดความสนใจเกี่ยวกับการอบรมดูแลเด็กอย่างเหมาะสมด้วยแล้ว เด็กมักถูกทอดทิ้งและละเลยความต้องการตามพัฒนาการเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญาทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการหยุดชะงักหรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้
2. ลักษณะการอบรมเลี้ยงดู พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโอย่างเต็มที่และมีความพร้อม ทั้งทางร่างกายและจิตใจจนสามารถที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ โดยเฉาะช่วงต้นของชีวิตและวัยก่อนเรียน ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูเด็กในเบื้องต้นจึงเป็นการวางรากฐานการดำเนินชีวิตให้กับเด็ก และมีอิทธิพลต่อการสร้างบุคลิกภาพและพฤติกรรมแก่เด็ก โดยที่เด็กจะเรียนรู้ค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมต่างๆที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ในสังคมจากการสั่งสอนและชี้แนะของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมย่อมทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือมีปัญหาได้ เช่น เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวมักมีสาเหตุมาจากการขาดความรัก ความเอาใจใส่ การอบรมสั่งสอน ความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลให้พัฒนาการตามวัยของเด็กหยุดชะงักหรือล้มเหลวได้
3. ภาวะโภชนาการ การได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการเป็นปัจจัยสำคัญในการปูพื้นฐานสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กปฐมวัยให้ดำเนินไปตามปกติ หากเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับ ความต้องการของร่างกายก็ย่อมส่งผลต่อภาวะโภชนาการและพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้ ในช่วงปฐมวัยนี้ ร่างกายมีการเจริญเติบและพัฒนาไปหลายด้านพร้อมกัน โภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยให้พัฒนาการและการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากร่างกายสามารถทำงานตามหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ภาวะโภชนาการจึงเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์หรือบกพร่องทางด้านสุขอนามัยของเด็กได้ เด็กที่มีภาวะทางโภชนาการดีจะสามารถเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ตามเกณฑ์มาตรฐานของพัฒนาการที่สมวัย ในทางตรงข้าม เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนหรือมีภาวะทางโภชนาการบกพร่องจะเป็นเด็กที่สุขภาพอ่อนแอ ภูมิต้านทางโรคต่ำ ติดเชื้อโรคได้ง่าย ร่างกายเจริญเติบโตช้ามีสัดส่วนและสภาพร่างกายผิดปกติ ทำให้พฤติกรรมและพัฒนาการในด้านอื่นๆผิดไปจากเด็กที่มีสุขภาพปกติ
4. สภาพสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างสูง มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมจากเดิมที่เป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อ แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนมีปัญหาสังคมต่างๆเกิดขึ้นนานาประการ ครอบครัวต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ เวลาส่วนใหญ่ต้องทุ่มเทให้กับการทำงานเพื่อหารายได้ เด็กจึงได้รับการเลี้ยงดูจากสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ วัยเยาว์ ความผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวเริ่มลดน้อยลง เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมักขาดโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ด้วยความไม่พร้อมและทัศนคติของพ่อแม่ ส่วนในครอบครัวปานกลางจะเครียดกับการที่พ่อแม่คาดหวังและกระตุ้นให้เรียนรู้มากเกินไป ในขณะที่เด็กที่มีครอบครัวฐานะดีมักถูกตามใจและปล่อยปละละเลย ทำให้เด็กขาดการอบรมสั่งสอนเท่าที่ควร ผลกระทบของสภาพสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่นี้ ทำให้พ่อแม่เรียนรู้วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ในเวลาเดียวกันสภาวะแวดล้อมที่พ่อแม่เคยให้เวลากล่อมเกลาลักษณะนิสัยบางประการของเด็กกับตัวเด็กลดน้อยลง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าเด็กที่มีปัญหาครอบครัวหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากขึ้น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ขาดความอดทนซึ่งอาจทวีความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมต่อไปได้
5. สื่อมวลชน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การติดต่อ สื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์สื่อมวลชนเข้ามามีอิทธิพลต่อการได้รับข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันของเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กทีละน้อย โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยที่เด็กมีความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และเลียนแบบสิ่งรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กได้รับการถ่ายทอดสิ่งใดและเป็นสิ่งที่เร้าความสนใจ เด็กมักจดจำและทำตามทันที โดยสะท้อนออกมาในคำพูดและการกระทำอย่างเด่นชัด เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบการแสดงออกอย่างเปิดเผย อยากรู้อยากเห็นและสามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น ความเหมาะสมของการได้รับเนื้อหาสาระจากสื่อประเภทต่างๆจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กิจกรรมส่งเสริมทางด้านภาษา ( นิทานจากภาพวาด )


เตรียมตัวในการทำกิจกรรม
1.) คิดหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กที่สุด
2.) ลองนำกิจกรรมที่จะใช้กับเด็กมาทดลองทำก่อน
3.) ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เกิดจินตนาการมากขึ้น
4.) ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น
5.) ต้องสังเกตว่าเด็กมีความสนใจในตัวกิจกรรมหรือเปล่า

เตรียมสื่อ
1.) กระดาษ
2.) สีไม้หรือสีเทียน
3.) ดินสอหรือปากกา
4.) แม็คเย็บกระดาษ

เตรียมกิจกรรม
1.) สภาพแวดล้อมที่ถ่ายเท
2.) การเตรียมอุปกรณ์ให้พอและเหมาะสมกับเด็ก
3.) ตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นจินตนาการของเด็ก
4.) เปิดโอกาสให้เด็กเล่าภาพที่ตนเองวาดให้เพื่อนฟังแล้วมารวมกัน
5.) นำภาพของทุกคนมารวมกันเป็นนิทานหนึ่งเรื่อง


สรุปผลที่ได้จากการจัดกิจกรรม
ได้เห็นเด็กๆช่วยกันแต่งนิทานเรื่องนี้ให้สมบูรณ์เค้าได้มีการพูดคุยกันแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนว่าตนเองนั้นคิดอย่างไรในวงของเค้าเองเด็กได้ใช้คำพูดสื่อสารกันก่อนที่จะวาดภาพออกมาจะมีการตกลงหัวข้อที่จะวาดกันว่าเป็นอะไรดีและถึงได้ลงมือทำเด็กๆจึงได้ใช้ทักษะทางภาษาประกอบกับจินตนาการของตนเอง


วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ปัญหาในการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัย

ปัญหาในการใช้ภาษาถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่สำคัญกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย เนื่องจาก ภาษาเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้สิ่งต่างๆของเด็ก ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาทิ อาการผิดปกติของระบบสมองและประสาท ที่บังคับควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด หูหนวกทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ผู้อื่นพูด เมื่อไม่ได้ยินเสียง เด็กจึงไม่สารถเลียนแบบเสียงผู้อื่นเพื่อฝึกพูดได้ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกาย อาการตึงเครียดทางอารมณ์ทำให้หมดความสนใจที่จะฝึกฝนการพูดก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่เกี่ยวข้องเด็กบางคนอาจมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งอาการพูดติดอ่างนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น
- เติบโตช้าผิดปกติ สมองช้า
- มีอารมณ์ประเภทต่างๆรุนแรงเกินสมควร เช่น ตื่นเต้น หวาดกลัว วิตกกังวล เศร้าโศก เสียใจ ระวังตนเองมากเกินไป
- สมองคิดเร็วเกินกว่าที่จะพูดออกมาทัน
- ถูกล้อเลียนทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ประหม่า ไม่แน่ใจ เคร่งเครียด เพราะถูกกวดขันอย่างเข้มงวด